วันศุกร์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

กาตาลัน กับ ความเป็นไป แล้วเหตุใดผู้นำจึงลี้ภัยไปเบลเยียม



กาตาลุญญา กับ ความเป็นไป แล้วเหตุใดผู้นำจึงลี้ภัยไปเบลเยียม


 แคว้นกาตาลุญญา (Cataluña) หรือชื่อในภาษาอังกฤษว่า  แคทาโลเนีย (Catalonia ) เขตการปกครองหนึ่งของสเปน ที่กำลังเกิดข้อพิพาทในประเทศขณะนี้ เป็นแคว้นที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนาน  แต่แรกปัญหาเริ่มตั้งแต่สมัยช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่สเปนถูกปกครองโดยรัฐบาลเผด็จการ นายพล ฟรังโก  โดยมีนโยบายชาตินิยม ต่อต้านคอมมิวนิสต์ ขจัดความเป็นวัฒนธรรม ภาษา ท้องถิ่น และ เสรีภาพของพลเมือง

ทำไมแคว้นกาตาลันต้องการประกาศอิสรภาพจากสเปน

 

ภาพ : confavc 
ปัญหาจากการถูกกดทับอัตลักษณ์ของตนเองถือเป็นปัญหามายาวนาน เพราะกาตาลุญญามีความภาคภูมิใจในความเป็นท้องถิ่นตน มีภาษากาตาลันเป็นภาษาท้องถิ่นของแคว้น มีความเป็นอิสระสูงจากรัฐบาลกลาง ปัจจุบันเรื่องภาษาและวรรณกรรม ความเป็นอัตลักษณ์ จึงเป็นหนึ่งในแรงผลักดันให้ประชาชนชาวกาตาลันรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม ต้องการแสดงออกถึงความเป็นเสรีภาพของแคว้น

ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจในยุโรปที่เรื้อรังมายาวนาน จากวิฤตหนี้สาธารณะยูโรโซนเมื่อปี 2008 ที่เกิดขึ้น ส่งผลต่อสถานะทางการเงินของยุโรปอย่างมาก สเปนหนึ่งในรัฐที่ประสบปัญหาต้องได้รับความช่วยเหลือจากภายนอก ต่างจากกาตาลัน แคว้นการปกครองที่มีสถานะร่ำรวย จึงเกิดความรู้สึกไม่พอใจที่จะต้องนำรายได้ของแคว้นไปช่วยเหลือโปะหนี้ของรัฐบาลกลางสเปน เพราะรายได้ของแคว้นนำไปให้รัฐบาลกลางคิดเป็นสัดส่วนถึง 1 ใน 5 ชาวกาตาลันจึงมีความเชื่อมากไปอีกว่า หากแคว้นประกาศอิสรภาพจากสเปนได้เมื่อไหร่ ความมั่งคั่งของแคว้นจะยิ่งทวีคูณมากขึ้นไปอีก

ไม่เพียงแต่เป็นเรื่องของการเมือง ภาษา หรือเศรษฐกิจที่ชาวกาตาลันแตกต่างจากประเทศสเปน ชาวกาตาลันเองยังมีสิ่งที่พวกเขาภาคภูมิใจอย่าง อาหาร ร้านอาหารชื่อดังอย่าง “El Celler de Can Roca” ติดอันดับ 1 ร้านอาหารที่ดีที่สุดของโลกในปี 2013 อีกทั้งยังเป็นอันดับ 3 ในปีนี้ และการแข่งขันฟุตบอลนัด “El Clásico” หรือ อัลกลาซิก ที่มีชื่อเสียงระดับโลกระหว่าง บาร์เซโลน่า และ มาดริด ถือเป็นความภาคภูมิใจหนึ่งของชาวกาตาลัน เพราะอาจกล่าวเชิงการเมืองได้ว่า  มาดริดเป็นตัวแทนของชาวสเปน ส่วน บาร์เซโลนาเป็นตัวแทนของ ชาวคาตาลัน

            เหตุใดการทำประชามติเกิดขึ้นในช่วงนี้


ความจริงแล้วต้องย้อนกลับไปตั้งแต่ช่วงปี 2014 ได้มีการทำประชามติสอบถามความต้องการของประชาชนในการแยกดินแดนเป็นอิสระ เกิดขึ้นจากการผลักดันของรัฐบาลท้องถิ่นฝ่ายสนับสนุนการแบ่งแยกดินแดน อย่างไรก็ตาม แม้ผลโหวตออกมาว่า 80% ของชาวกาตาลันต้องการแยกประเทศ แต่รัฐบาลกลางสเปนกลับถือเป็นโมฆะตามรัฐธรรมนูญ ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งที่เกิดขึ้น
ล่าสุดการทำประชามติเมื่อตุลาคม 2017 ที่ผ่านมา ยิ่งเพิ่มความตึงเครียดมากขึ้นไปอีก เมื่อรัฐบาลท้องถิ่นมีประชามติประกาศเอกราชแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญของสเปนประกาศว่าคำประกาศนั้นเป็นโมฆะ พร้อมประกาศใช้มาตรา 155 ปลดสภาท้องถิ่นกาตาลัน 

·        มาตรา 155 ตามรัฐธรรมนูญสเปนนี้ หมายความว่า สภาท้องถิ่นของกาตาลุญญา สิ้นสภาพตามรัฐธรรมนูญสเปนเป็นที่เรียบร้อย พร้อมยึดอำนาจและยุบสภาท้องถิ่น หากยังคงดื้อดึง อาจถูกดำเนินคดีข้อหากบฏได้ และประกาศเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 21 ธันวาคม

·        แต่ชาวกาตาลัน ไม่สนใจ ถือว่า กาตาลูญญาพ้นอำนาจจากรัฐบาลกลางแล้ว 

ทางฝ่ายสเปนเอง ประชาชนสเปนนับล้านต่างออกมาชุมนุม เดินขบวนชูธงประเทศสเปน พร้อมประกาศสนับสนุน รัฐบาลกลางสเปน และไม่เห็นด้วยกับการแบ่งแยกดินแดน 

                ปฏิกิริยาจากนานาชาติต่อสถานการณ์เป็นเช่นไร

 โดยนานาชาติส่วนใหญ่นั้น มีปฏิกิริยาที่แตกต่างกันออกไป  


  •          รัฐบาลสกอตแลนด์ ที่มีจุดประสงค์คล้ายกัน เพราะสกอตแลนด์ประสงค์ที่จะแยกประเทศเป็นอิสระจากเครือจักภพในปี 2014 เช่นกัน สนับสนุนและเคารพจุดยืนรัฐบาลท้องถิ่นกาตาลัน พร้อมเห็นด้วยที่ประชาชนจะมีเสรีภาพในการกำหนดชะตาชีวิตตนเอง

  •            สหรัฐอเมริกาเอง กระทรวงการต่างประเทศ ประกาศว่า กาตาลูญญา ยังคง เป็น ส่วนหนึ่งของ สเปน พร้อมเร่งให้สเปนแก้ปัญหาสถานการณ์โดยเร็ววัน

  •         องค์การระหว่างประเทศอย่าง ‘NATO’ ให้ความเห็นว่า การประกาศเอกราชเป็นเรื่องภายในประเทศ รัฐบาลกลางของสเปนควรแก้ปัญหาเองภายใน โดยไม่มีการถูกแทรกแซง

-            และหากไม่พูดถึงก็คงจะไม่ได้อย่าง รัฐบาลอังกฤษ ที่เพิ่งประสบกรณี #Brexit  แถลง ไม่ยอมรับ การประกาศเอกราชของกาตาลุญญา
-           

                เหตุใดจึงหนีไปเบลเยียม


สถานการณ์ล่าสุด รัฐบาลกลางสเปนได้ตั้งข้อหา  นาย Carles Puigdement ประธานาธิบดีกาตาลูญญาพร้อมกับพวกในข้อหากบฏ ข้อหาปลุกระดมทางการเมืองเพื่อสร้างความแตกแยก การใช้งบประมาณ และอำนาจรัฐในทางมิชอบ อีกทั้งขณะนี้ประธานาธิบดีเองได้หนีไปที่กรุงบรัสเซลส์ เบลเยียมเรียบร้อยแล้ว ทิ้งให้ประชาชนที่สนับสนุนต้องฝันค้าง พร้อมให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า ไม่ใช่เป็นการลี้ภัยทางการเมือง แต่เพียงต้องการเสรีภาพของตนเท่านั้น พร้อมต้องการแสดงจุดยืนของตนต่อประเทศยุโรปอื่นๆ เพราะ กรุงบรัสเซลส์ เบลเยียม เป็นที่ตั้งของสหภาพยุโรปนั่นเอง และจะกลับไปหากได้รับความยุติธรรม และสัมภาษณ์ว่าจะกลับไปเลือกตั้ง 21 ธันวาคมนี้ แน่นอน       


ภาพ : Nation TV

     

ตามกฎหมายพลเมืองยุโรปทุกคนมีสิทธิอยู่ในเบลเยียมได้ 90 วันโดยไม่ต้องใช้เอกสารใดๆ แต่สามารถยื่นเรื่องขออยู่ต่อเพิ่มได้  อีกวิธีคือการเดินทางไปยัง เนเธอแลนด์หรือฝรั่งเศสก่อน แล้วจึงกลับเข้ามาเบลเยียมอีกครั้ง จะถือว่าเริ่มนับวันใหม่ได้ ยกเว้นแต่มีการออกหมายประกาศจับไปทั่วยุโรปแล้ว ก็คงต้องส่งตัวกลับไปดำเนินคดีที่สเปนตามระเบียบ

อย่างไรก็ตามแม้มีการเลือกตั้งใหม่เกิดขึ้น แต่ความขัดแย้งภายในสเปนก็ยังคงไม่คลี่คลาย เพราะภายในกาตาลันเองประชาชนยังคงมีความเห็นต่างกัน ล่าสุดประชาชน 40% ต้องการแยกประเทศ และอีก 76% ต้องการให้มีการลงประชามิตอย่างเป็นทางการ โดยมีรัฐบาลกลางสเปนอนุมัติ

โดยชัดเจนแล้วว่าจะมีการเลือกตั้งครั้งใหม่เกิดขึ้นโดยมีทั้งพรรคการเมืองที่สนับสนุนการแยกประเทศ และประชาชนที่คัดค้าน เราคงต้องลุ้นกันต่อไปว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาเป็นเช่นไร หากรัฐบาลที่สนับสนุนการแย่งแยกดินแดน ได้รับเลือกตั้งขึ้นมาอีกครั้ง สถานการณ์การเมืองของสเปนจะดำเนินต่อไปเช่นไร

สถานการณ์ในสเปนจะเป็นอย่างไร หลังจากที่ประธานาธิบดีกาตาลันและกลุ่มรัฐมนตรี ถูก EU ออกหมายจับ เราทุกคนยังต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดจนกว่าจะถึงวันเลือกตั้งครั้งใหม่

ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลดีๆจาก
Twitter @NunciusTerrarum
NationTV @KittiSmit